Pétain, Henri-Philippe (1856-1951)

จอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง (พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๙๔)

 อองรี-ฟิลิป เปแตงเป็นจอมพลแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสเขามีผลงานโดดเด่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* โดยเฉพาะระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๘ ซึ่งทำให้เขากลายเป็นวีรบุรุษแห่งชาติฝรั่งเศสแม้เขาจะสนใจการทหารเหนือสิ่งอื่นใด แต่ชีวิตของเขาในช่วงหลังสงครามก็ถูกดึงเข้าสู่วิถีการเมือง ใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในปีต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และด้วยเหตุที่เขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* แห่งสเปนมาก่อนเขาจึงได้รับแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงมาดริดใน ค.ศ. ๑๙๓๙ อย่างไรก็ดี ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีในการวางแผนต่อต้านการจู่โจมแบบสายฟ้าแลบของกองทัพนาซีเยอรมันระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติของยุทธการที่ฝรั่งเศส (Battle of France)* เมื่อฝรั่งเศสต้องจัดตั้งรัฐบาลวิชี (Vichy Government)* ขึ้นในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เปแตงได้รับเลือกให้เป็นประมุขของรัฐฝรั่งเศสที่ต้อง ให้ความร่วมมือกับนาซีเยอรมันโดยไม่มีข้อบิดพลิ้วเมื่อสงครามยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ เขาถูกศาลอาชญากรรมสงครามชองฝรั่งเศสตัดสินประหารชีวิตในข้อหากระทำการอันเป็นการทรยศต่อชาติ เปแตงถูกถอดยศ ยึดทรัพย์สมบัติ และเรียกคืนเหรียญตรา อย่างไรก็ดี นายพลชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle)* นายกรัฐมนตรีเฉพาะกาลในขณะนั้นได้ขอให้มีการพิจารณาโทษของเขาใหม่ ซึ่งก็ได้รับการพิจารณาให้ลดโทษจากการประหารเป็นการจำคุกตลอดชีวิต เปแตงจึงมีชีวิตผกผันจากการเป็นวีรบุรุษของชาติมากลายเป็นผู้ทรยศต่อชาติในช่วงปลายชีวิต

 ฟิลิป เปแตงมีชื่อเต็มว่า อองรี-ฟิลิป เบอโนนี โอแมร์ โชแซฟ เปแตง (Henri-Philippe Benoni Omer Joseph Pétain) เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ค.ศ. ๑๘๕๖ ที่เมืองโกซี-อา-ลา-ตูร์ (Cauchy-à-la-Tour) ในจังหวัดปา-เดอ-กาเล (Pas-de-Calais) ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสโอแมร์-เวอนอง (Omer-Venant) บิดาสืบเชื้อสายมาจากครอบครัวชาวนาเก่าแก่ชาวเฟลมมิช (Flemish) ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบนั้นตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แม้ครอบครัวจะถือครองที่ดินไม่มากและมีชีวิตลำบาก ไม่มีสังคมและเพื่อนฝูงมากมาย มีแต่ครอบครัวเครือญาติ และเพื่อนบ้านแต่ทุกคนก็ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดีในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดและมีการศึกษา เปแตงเป็นบุตรชายคนเดียวและมีน้องสาวอีก ๔ คนซึ่งเสียชีวิต ๑ คนจากภรรยาคนแรก และมีน้องอีก ๓ คนจากภรรยาคนที่ ๒ ของบิดา เปแตงและน้องหลายคนต้องกระจายไปอยู่กับญาติเพื่อรับการศึกษา ส่วนเปแตงถูกส่งไปอยู่กับลุงซึ่งเป็นพี่ชายมารดาและเป็นพระอธิการ (Abbé) ตั้งแต่อายุ ๖ ขวบ เขาจึงมีโอกาสได้รับการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนาที่มุ่งการถวายตัวในคริสตจักรเมื่อเรียนจบอย่างไรก็ดี เมื่อเกิดสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย (Franco-Prussian War)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๘๗๑ และเหตุการณ์คอมมูนแห่งปารีส (Commune of Paris)* ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ เปแตงเริ่มหันเหความสนใจจากเรื่องศาสนำมาเป็นเรื่องการสงคราม การเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของพวกคอมมิวนิสต์ ที่นิยมความรุนแรงซึ่งเขาไม่เห็นด้วยอย่างมาก เปแตงจึงเริ่มมีทัศนะที่เป็นปฏิปักษ์กับพวกคอมมิวนิสต์ต่อเนื่องมาจนถึงบั้นปลายชีวิต

 ใน ค.ศ. ๑๘๗๔ ขณะเรียนอยู่ปีสุดท้ายของโรงเรียนศาสนาระดับมัธยม เปแตงหนีออกจากโรงเรียนโดยไม่บอกใครในปีต่อมาลุงของเขาจึงได้รับข่าวจากเขาว่าได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งชานกรุงปารีสเปแตงได้เข้ารับราชการทหารจนต่อมาได้สอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยวิชาการทหารแซง-ซีร์ (Saint-Cyr Military Academy) และสำเร็จการศึกษาที่นั่นใน ค.ศ. ๑๘๘๗ หลังจากนั้นเขาได้เข้าศึกษาหลักสูตรเฉพาะที่วิทยาลัยการสงครามของกองทัพบก (Army War College) และสอนอยู่ที่นั่นระยะหนึ่ง เปแตงได้รับการเลื่อนยศเป็นร้อยเอกใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เป็นพันตรีใน ค.ศ. ๑๙๐๐ และเป็นพันเอกับงคับบัญชากองพันทหารราบที่ ๓๓ ที่เมืองอาร์ราส (Arras) ใน ค.ศ. ๑๙๑๑ โดยมีร้อยโทหนุ่ม ชาร์ล เดอ โกลเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ชีวิตในราชการทหารของเปแตงจนถึงสงครามโลกครั้งที่ ๑ เมื่อใกล้เกษียณไม่มีอะไรโดดเด่นน่าตื่นเต้นการเลื่อนตำแหน่งและชั้นยศก็เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้เพราะเขาเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวมีวิธีทำงานเป็นแบบอนุรักษนิยม และประการสำคัญมีแนวคิดทางการทหารที่ขัดกับนักการทหารส่วนใหญ่ โดยเขามักให้ความเห็นว่ายุทธวิธีการทำสงครามที่จะประสบความสำเร็จได้ไม่จำเป็นต้องเน้นการรุกไล่ (offensive) ที่สิ้นเปลืองสรรพกำลังและอาวุธยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็นเขาเห็นว่า “พลังอาวุธฆ่าคน” (fire power kills) ในการทำสงครามจึงไม่จำเป็นต้องใช้อาวุธ เปแตงเป็นนักการทหารที่เห็นคุณค่าและความสำคัญของยุทธวิธีการตั้งรับ (defensive) ที่มีประสิทธิภาพ ความคิดเห็นของเขาจึงไม่เป็นที่ยอมรับในแวดวงทหาร

 สงครามโลกครั้งที่ ๑ พลิกผันชะตาชีวิตของเปแตงซึ่งแม้เขาจะยังคงมียศเป็นพันเอก แต่ก็ได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพที่ ๕ ปฏิบัติการรบทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเขาคาดหวังว่าปฏิบัติการในตำแหน่งนี้จะนำเกียรติประวัติมาให้เขาก่อนเกษียณอายุราชการ แต่เมื่อสงครามดำเนินไประยะหนึ่ง พร้อม ๆ กับการบุกอย่างหนักของกองทัพเยอรมันฝรั่งเศสไม่อยู่ในฐานะที่ตอบโต้ได้มากนัก กองทัพฝรั่งเศสจึงเห็นความสำคัญของยุทธวิธีการรบแบบตั้งรับของเปแตงเป็นครั้งแรก เขาจึงได้รับการเลื่อนยศเป็นพลตรีบังคับบัญชากองพลที่ ๖ ในยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑ (First Battle of the Marne)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๔ หลังจากนั้นเปแตงได้รับการเลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วติดต่อกันถึง ๓ ครั้งภายในระยะเวลาปีเศษ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาได้รับมอบหมายให้บัญชาการรบในยุทธการที่แวร์เดิง (Battle of Verdun)* โดยได้รับคำสั่งให้ปกป้องเมืองแวร์เดิงซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าเมิส (Meuse) และเป็นเมืองเก่าแก่สมัยโรมันมีกำแพงและป้อมปราการเป็นแนวป้องกันการรุกรานของพวกเยอรมันมาแต่โบราณกาล ในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ กองทัพเยอรมันซึ่งประสบความสำเร็จในการบุกโจมตีฝรั่งเศสมาจากทางเหนือได้เข้าประชิดแนวป้องกันและหมายจะเข้ายึดเมืองแวร์เดิงให้ได้ แต่จนถึงเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๖ ก็ยังยึดไม่ได้ทั้งๆ ที่มีการเสริมกำลังรบเต็มอัตราศึก รวมทั้งกำลังรบที่เป็นเครื่องบินรบถึง ๑๖๘ ลำด้วย เมื่อเปแตงเข้ารับหน้าที่บัญชาการรบ เขาได้กล่าวปฏิญาณต่อหน้าทหารใต้บังคับบัญชาว่า “เรา (ฝรั่งเศส) จะต้องจับมัน (เยอรมัน) ไว้ให้ได้” โดยพวกนั้นจะต้องไม่ผ่านแนวป้องกันที่เข้มแข็งของฝรั่งเศสไปได้เป็นอันขาด ซึ่งกองทัพฝรั่งเศสก็สามารถตรึงกองทัพเยอรมันที่แนวรบด้านนั้นไว้ได้เกือบตลอดทั้งปี ยุทธการที่แวร์เดิงทำให้เปแตงได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปอีกครั้งหนึ่ง โดยในครั้งนี้ได้เป็นผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกรับผิดชอบการปฏิบัติการรบของ ๕๒ กองพลในแนวรบด้านเหนือรวมทั้งแวร์เดิงด้วย

 ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ขณะอายุ ๖๑ ปี เปแตงได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะเสนาธิการกองทัพบกและไม่นานหลังจากนั้นเพียงเดือนเศษ ๆ เขาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ความสำเร็จของเขาเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการดำเนินยุทธวิธีการตั้งรับอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีกำลังพลและกำลังรบคืออาวุธและยุทโธปกรณ์อย่างเพียงพอ นอกจากนั้นเปแตงยังเชื่ออีกด้วยว่ากองทัพจะประสบความสำเร็จได้ต้องขึ้นอยู่กับขวัญและกำลังใจของทหาร ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ด้วยการรบที่ต้องตรึงพื้นที่อยู่เป็นเวลานานชีวิตความเป็นอยู่ของทหารจึงไม่ได้รับความเอาใจใส่เท่าที่ควร ทำให้ขาดขวัญและกำลังใจ จึงมีความกระด้างกระเดื่องเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เปแตงต้องหาทางปราบปรามด้วยการกำจัดแกนนำกลุ่มที่ กระด้างกระเดื่องให้หมดไปแล้วเริ่มโครงการฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของทหารให้ดีขึ้นทั้งยังเน้นการส่งกำลังบำรุงสำหรับกองทัพอย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพซึ่งหมายความว่าขณะกองทัพทำการรบ รัฐบาลต้องเร่งรัดการผลิตอาหาร เครื่องนุ่งห่มของทหาร ยารักษาโรค และอาวุธยุทโธปกรณ์ให้เพียงพอ รวมทั้งพัฒนาระบบการสื่อสารและคมนาคมควบคู่กันไปด้วย เปแตงได้แสดงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำทางการทหารให้เป็นที่ประจักษ์ จึงทำให้เขาได้รับการเลื่อนชั้นยศและตำแหน่งอย่างรวดเร็ว

 อย่างไรก็ดี เปแตงมักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเขาไม่ชอบใช้ยุทธวิธีเชิงรุกขณะที่ผู้นำกองทัพจำนวนมากอยากใช้แต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้พิสูจน์ให้เห็นความเหมาะสมของการใช้ยุทธวิธีแบบตั้งรับเพื่อลดอัตราการสูญเสีย กระนั้นเปแตงก็แสดงให้เห็นในหลายโอกาสว่า เขาพร้อมจะใช้ยุทธวิธีเชิงรุกและบุกโจมตีอย่างรวดเร็วเป็นระยะ ๆ เมื่อเขาแน่ใจว่าการบุกโจมตีนั้นๆ จะไม่นำความสูญเสียมาให้แก่กองทัพจนเกินกว่าเหตุ จะเห็นได้จากการรบใน ค.ศ. ๑๙๑๘ ซึ่งเป็นการรบร่วมของพันธมิตรฝรั่งเศสอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา เปแตงสามารถปรับกลยุทธ์ได้อย่างพอเหมาะ ทำให้กองทัพเยอรมันต้องถอยกลับออกไปภายในเดือนตุลาคม และลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* ในเดือนพฤศจิกายนเปแตงได้รับการเลื่อนยศเป็นจอมพลแห่งกองทัพบกฝรั่งเศสในเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ สงครามโลกครั้งที่ ๑ สิ้นสุดลงพร้อม ๆ กับความสำเร็จของเปแตงที่ไต,เต้าจากลูกชาวนำมาเป็นวีรบุรุษนักรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของฝรั่งเศส

 เปแตงไม่ได้โชคดีเฉพาะในเรื่องการงานเท่านั้นแต่ในชีวิตส่วนตัวของเขา สงครามก็นำความรักและการแต่งงานมาให้เขาด้วย แม้เปแตงจะเป็นคนรูปร่างหน้าตาดี ผมสีบลอนด์ ตาสีฟ้าใสและเจ้าชู้ เขามีความสัมพันธ์กับผู้หญิงหลายคนแต่ก็ครองความเป็นโสดมาจนล่วงเข้าวัยหกสิบโดยไม่คิดจะแต่งงานระหว่างสงคราม ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ เขาได้พบรักกับแม่ม่ายวัยใกล้เคียงกันชื่อ เออชีนี อาร์ดงหรือนีนี (Eugienie Hardon; Nini) พยาบาลอาสาสมัครที่หน่วยพยาบาลทหารที่เมืองชาลง (Châlons) ทั้งคู่ตัดสินใจแต่งงานเมื่อสงครามยุติลง แต่เนื่องจากมีอายุมากแล้วจึงไม่มีทายาทด้วยกัน

 หลังสงครามเปแตงยังคงรับราชการต่อไป แม้จะมีคนชักชวนให้เล่นการเมือง แต่เขาก็ไม่สนใจ ในฐานะเป็นผู้ตรวจการกองทัพบก เขาต้องยุ่งกับปฏิบัติการที่กองกำลังฝรั่งเศสเข้ายึดครองฝั่งซ้ำยของแม่น้ำไรน์ (Rhine) ตามข้อตกลงสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ค.ศ. ๑๙๑๙ ระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนี และใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ก็เกิดวิกฤตการณ์แคว้นรูร์ (Ruhr) ซึ่งเปแตงต้องรับผิดชอบในการส่งทหารฝรั่งเศสเข้ายึดครองดินแดนบางส่วนในแคว้นรูร์ของเยอรมนีเพื่อบีบบังคับให้ประเทศนั้นปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย สถานการณ์ลุกลามจนทำให้ฝรั่งเศสเข้ายึดครองแคว้นรูร์ได้ทั้งหมดใน ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อปฏิบัติการในแคว้นรูร์บรรลุผล เปแตงก็ได้รับคำสั่งให้เดินทางไปบัญชาการปราบปรามความไม่สงบในโมร็อกโก (Morocco) ซึ่งเป็นรัฐในอารักขา (Protectorate) ของฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือมาตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๒

 โมร็อกโกเป็นประเทศของคนพูดภาษาอาหรับ มีหลายเผ่าพันธุ์ แม้จะมีประมุขในตำแหน่งสุลต่านร่วมกันแต่ก็ตกอยู่ในอาณัติของสเปนตามแนวชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนส่วนที่เหลือเป็นของฝรั่งเศสชนเผ่าต่าง ๆ เหล่านั้นไม่เคยยอมรับการปกครองของต่างชาติจึงกระด้างกระเดื่องและก่อความไม่สงบเป็นระยะ ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ ชนเผ่าเบอร์เบอร์ (Berbers) กลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณเนินเอร์ริฟ (Er Rif) ซึ่งเป็นแนวเขตแดนระหว่างโมร็อกโกชองสเปนกับชองฝรั่งเศสได้ก่อสงครามประกาศอิสรภาพ โดยในชั้นแรกได้ตีตะลุยยึดครองเมืองหลายแห่งในโมร็อกโกของสเปนกองกำลังสเปนที่รับผิดชอบในพื้นที่ภายใต้การบังคับบัญชาของพันเอกฟรันซิสโก ฟรังโก ไม่อาจต้านทานการบุกโจมตีของพวกเบอร์เบอร์ภายใต้การนำของพี่น้องตระกูลอับเดลคริม (Abdel-Krim) ได้ และเมื่อสงครามยืดเยื้อมาจนถึง ค.ศ. ๑๙๒๓ เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจในสเปนที่ทำให้พลเอก ปริโม เด รีเบรา (Primo de Rivera) เป็นผู้นำเผด็จการของประเทศและให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการสู้รบในแอฟริกาเหนือจึงได้สั่งเสริมกำลังรบหลังจากสเปนสูญเสียไพร่พลในการสงครามไปแล้วกว่า ๑๐,๐๐๐ คนขณะที่สงครามได้ขยายแนวรบเข้าไปในเขตแดนโมร็อกโกของฝรั่งเศสและกองกำลังฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่โดยมีจอมพล อูแบร์ ลีโอเต (Hubert Lyautey) เป็นผู้บังคับบัญชาก็พยายามสกัดกั้นการบุกโจมตีของพวกเบอร์เบอร์จากเนินเอร์ริฟอย่างเต็มที่ สถานการณ์จึงเป็นใจให้เด รีเบราหาทางเจรจากับฝรั่งเศสให้ร่วมมือกับสเปนเพื่อให้สงครามสิ้นสุดลงโดยเร็ว

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๓ เปแตงเดินทางเข้ารับหน้าที่ใหม่ในโมร็อกโก เขาใช้เวลาศึกษาสถานการณ์รบในพื้นที่อย่างละเอียด แล้วจึงเริ่มเจรจากับเด รีเบราซึ่งนำไปสู่การลงนามในสัญญาปฏิบัติการทำงทหารร่วมกันในโมร็อกโกในเดือนกรกฎาคม เปแตงทำงานใกล้ชิดกับลีโอเตซึ่งต่อมาก็กลับฝรั่งเศสและมีนายพลอัลฟอนโนแลง (Alphonne Naulin) มาทำหน้าที่แทนขณะเดียวกันเขาก็ได้มีโอกาสปรึกษาหารือและร่วมงานใกล้ชิดกับพันเอก ฟรังโกของสเปนด้วย ปฏิบัติการร่วมใช้เวลาจากครึ่งหลังของ ค.ศ. ๑๙๒๔ จนสิ้นสุดด้วยชัยชนะของพันธมิตรฝรั่งเศส-สเปนในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๕ ความสามารถในการวางแผนการรบของเปแตงที่พยายามให้เสียกำลังพลน้อยที่สุดและสำเร็จผลมากที่สุดทำให้เขาเป็นที่ยกย่องนับถือของทหารทั้งฝ่ายฝรั่งเศสและสเปนสงครามครั้งนี้จึงนำเกียรติยศมาให้แก่เปแตงอีกครั้งหนึ่งโดยเขาได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญจากพระเจ้าอัลฟองโซที่ ๑๓ (Alfonso XIII) แห่งสเปนในต้น ค.ศ. ๑๙๒๖

 ระหว่างปฏิบัติภารกิจในแอฟริกาเหนือ เปแตงได้พบกับร้อยเอก ชาร์ล เดอ โกลซึ่งได้เคยพบตั้งแต่ก่อนเริ่มสงครามโลกครั้งที่ ๑ ขณะที่เดอ โกลมียศเป็นร้อยโท และมีความชื่นชอบในตัวเปแตงเป็นอย่างมาก เมื่อพบกันอีกครั้งเดอ โกล มีครอบครัวแล้วและมีบุตรคนแรกที่เขาตั้งชื่อตามชื่อของเปแตง เดอ โกลได้กลายเป็นนายทหารคนสนิทของเปแตง เขาทำงานใกล้ชิดกับเปแตงอย่างมากและแม้เวลาผ่านไปจนเปแตงเกษียณจากราชการทหารใน ค.ศ. ๑๙๓๑ เมื่ออายุได้ ๗๕ ปี ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองก็ยังคงแนบแน่นอย่างไรก็ดี ได้เกิดความขัดแย้งขึ้นเมื่อเดอ โกล ได้ช่วยเปแตงเขียนอัตชีวประวัติของเขา โดยเฉพาะในช่วงการวิจารณ์การทหารที่แสดงให้เห็นถึงอัจฉริยภาพและความเป็นวีรบุรุษสงครามของเปแตง ไม่ว่าในสงครามขนาดใหญ่อย่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ หรือสงครามขนาดเล็ก เช่นสงครามในโมร็อกโก เดอ โกล ตั้งข้อสังเกตในหนังสือว่า “จอมพล เปแตงเป็นผู้ยิ่งใหญ่ แต่เขาได้ตายไปแล้วใน ค.ศ. ๑๙๒๕” เพราะชีวิตหลังจากนั้นจนเขาออกจากราชการทหารก็เรียบง่ายไม่โดดเด่นทั้งยังตกตํ่าอย่างมากในช่วงปลายชีวิต

 เปแตงตัดสินใจใช้ชีวิตหลังเกษียณเข้าสู่ถนนการเมืองใน ค.ศ. ๑๙๓๔ เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากนั้นอีก ๑ ปีก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงมาดริด ประเทศสเปน ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นายพลฟรังโกขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารของสเปนอย่างไรก็ดี ในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๔๐ เขาถูกเรียกตัวกลับฝรั่งเศสเพื่อเข้าร่วมในคณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีปอล เรโน (Paul Raynaud)* นายพลมักซีม เวกอง (Maxim Weygand) และพลตรี เดอ โกล โดยหวังว่า ๓ คนหลังจะช่วยยกระดับความสำคัญของการกระตุ้นขวัญและกำลังใจของทหารฝรั่งเศสด้วยยุทธวิธีการรบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ หลังจากที่กองทัพฝรั่งเศสไม่อาจยับยั้งการบุกโจมตีของกองทัพเยอรมันและทำให้ฝรั่งเศสต้องสูญเสียดินแดนให้เยอรมนียึดครองเป็นจำนวนมากในยุทธการที่ฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ และเวลาต่อมาก็มีแนวโน้มว่าฝรั่งเศสจะต้องสูญเสียกรุงปารีสและดินแดนส่วนใหญ่ของประเทศในเวลาไม่นานนัก จึงเกิดความคิดแตกแยกในคณะรัฐมนตรีที่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรสละประเทศแล้วไปจัดตั้งรัฐบาลในอาณานิคมฝรั่งเศสในแอฟริกาเหนือเพื่อรอจังหวะบุกขึ้นส่งทางภาคใต้ของประเทศ ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือเปแตงไม่เห็นด้วยและเขาเห็นว่าควรอยู่สู่ในประเทศนายกรัฐมนตรีเรโนจึงยื่นใบลาออก เมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ ซึ่งทำให้ประธานาธิบดี อัลแบร์ เลอเบริง (Albert Lebrun) ตัดสินใจเชิญเปแตงเป็นนายกรัฐมนตรีแทน อย่างไรก็ดี ในสถานการณ์วิกฤติของประเทศเปแตงได้รับมอบอำนาจพิเศษในฐานะเป็นประมุขของประเทศ โดยเลอเบริงเปรียบเสมือนเป็นประธานาธิบดีลอย

 ทันทีที่เปแตงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ ๑๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๐ เปแตงเห็นว่าการต่อต้านกองทัพนาซีไม่มีประโยชน์อีกต่อไป เขาจึงขอเจรจาสงบศึกกับเยอรมนีและได้มีการลงนามในวันที่ ๒๒ กรกฎาคม สัญญาสงบศึกระบุให้เยอรมนียึดครองดินแดนทางตอนเหนือและตะวันตกของฝรั่งเศสรวมทั้งกรุงปารีส และดินแดนชายส่งมหาสมุทรแอตแลนติกรวมประมาณ ๓ ใน ๕ ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสมีสิทธิเหนือดินแดนประมาณ ๒ ใน ๕ และย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองวิชี (Vichy) ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศเล็ก ๆ อย่างไรก็ดี อำนาจการปกครองและตัวแทนของประเทศยังคงเป็นของรัฐบาลวิชีในนามประชาชนชาวฝรั่งเศส รัฐสภาซึ่งประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาประชุมที่เมืองวิชีและให้สัตยาบันสัญญาสงบศึกพร้อมทั้งมอบอำนาจให้เปแตงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ๕๖๙ ต่อ ๘๐ (งดออกเสียง ๑๘ เสียง) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทำให้สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (Third Republic of France)* สิ้นสุดลง และทำให้เปแตงเป็นประมุขของรัฐที่มีอำนาจเกือบสมบูรณ์ ประการหลังนี่สะท้อนตัวตนที่แท้จริงของเปแตงซึ่งถือกำเนิดมาในครอบครัวชาวนาที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการที่ได้ผ่านชีวิตในโรงเรียนที่เตรียมตัวเป็นนักบวชแล้วผ่านวิทยาลัยการทหารและชีวิตทหารจนอายุ ๗๕ ปี ทำให้เปแตงเป็นคนหัวเก่า รักระเบียบวินัยและความมีอำนาจแม้เขาจะมีการศึกษาดี แต่เขาก็เป็นคนคับแคบทางความคิดและรักชาติอย่างมีอคติ โดยเฉพาะเขาไม่นิยมพวกหัวก้าวหน้าและพวกคอมมิวนิสต์ รัฐธรรมนูญที่เปแตงมีส่วนยกร่างได้ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นรัฐและสังคมที่เน้นอำนาจนิยมและความเป็นคาทอลิกที่ดี มีคำขวัญว่า “ทำงานครอบครัว และปิตุภูมิ” (Work, Family and Fatherland) แทนที่สาธารณรัฐที่เน้นจิตวิญญาณของ “เสรีภาพ ความเสมอภาคและภราดรภาพ” (Liberty, Equality and Fraternity) ที่ชาวฝรั่งเศสเคยภาคภูมิใจ นอกจากนั้นจอมพลนอกราชการวัย ๘๔ ปี ยังปกครองประเทศไม่ต่างจากการปกครองกองทัพ เขาจัดตั้งกองกำลังแห่งชาติฝรั่งเศสของนักต่อสู้ (French Legion of Fighters) ซึ่งแบ่งออกเป็นกรมกองที่ยังไม่เคยมีใครมีโอกาสต่อสู้อย่างจริงจังเขาปฏิรูประบบราชการเพื่อให้มีระเบียบวินัยและเข้มแข็งแบบทหาร เขาออกกฎหมายต่อต้านชาวยิวแบบเดียวกับที่นาซีเยอรมันได้ทำรัฐวิชีจึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับรัฐนาซีของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ในระดับหนึ่ง

 ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๐ เปแตงพบกับฮิตเลอร์ ที่เมืองมงตัวร์ (Montoire) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการร่วมมือกันสร้าง “ระเบียบใหม่” (New Order) ในยุโรป ชี่งเปแตงคาดหวังว่าหากฝรั่งเศสให้ความร่วมมือ เยอรมนีก็ควรเปิดทางให้ฝรั่งเศสได้บางอย่างที่จะเป็นหลักประกันในการสร้างสังคมใหม่และปลอดภัยจากการขยายตัวของลัทธิบอลเชวิค ซึ่งฮิตเลอร์แสดงให้เห็นอย่าง ชัดเจนว่าไม่สนใจข้อแลกเปลี่ยนใด ๆ รัฐบาลวิชีจึงคงความเป็นกลางอยู่ระยะหนึ่ง จนเมื่อขบวนการฝรั่งเศสเสรี (Free French Movement)* เกิดขึ้นและทวีความเข้มแข็งขึ้นเปแตงแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเขาต่อต้านขบวนการของคนชาติเดียวกันเพราะเขาไม่ต้องการเห็นฝรั่งเศสกลับคืนสู่สาธารณรัฐเสรีนิยม เขาจึงหันมาใช้นโยบายให้ความร่วมมือกับนาซีเยอรมันอย่างจริงจังใน ค.ศ. ๑๙๔๒ โดยเปแตงยอมให้มีการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธเพื่อความร่วมมือระหว่าง ๒ ประเทศ ใช้ชื่อว่า “มีลิซ” (Milice) มีพันตรี โยเซฟ ดาร์นันด์ (Joseph Darnand) แห่งหน่วยเอสเอส (SS)* หรือชุทซ์ชตัฟเฟิล (Shutzstaffel) ของเยอรมนีเป็นผู้บังคับบัญชา กองกำลังนี่ทำหน้าที่กวาดล้างขบวนการที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการดำเนินงานของมหาอำนาจอักษะ (Axis Powers) กวาดล้างพวกยิว รวมทั้งขบวนการฝรั่งเศสเสรีด้วย นอกจากนั้น รัฐบาลวิชียังช่วยส่งกำลังบำรุงกองทัพกลุ่มอักษะทั้งในด้านอาหารและผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมรวมทั้งมีคำสั่งให้กองทัพฝรั่งเศสที่ประจำการอยู่ในดินแดนในอาณัติฝรั่งเศสต่อสู้กับกองทัพพันธมิตรทุกแห่งในทวีปแอฟริกา และต้อนรับกองกำลังเยอรมันที่รุกเข้าไปในซีเรีย (Syria) ตูนิเชีย (Tunisia) และฝรั่งเศสตอนใต้โดยไม่มีการต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น

 ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๔๒ อังกฤษและสหรัฐอเมริกาเริ่มรุกในการสู้รบในแอฟริกาตอนเหนือ (North African Campaigns)* โดยพลเรือเอก ชอง ดาร์ลอง (Jean Darlan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารเรือของรัฐบาลวิชีตกลงให้ความร่วมมือกับฝ่ายพันธมิตรในการสู้รบกับกลุ่มอักษะ เยอรมนีจึงบุกเข้ายึดฝรั่งเศสของรัฐบาลวิชีเป็นการตอบโต้ แม้ฝรั่งเศสจะยังคงได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศเอกราช” แต่รัฐบาลวิชีของฝรั่งเศสก็ได้กลายเป็น “รัฐบาลหุ่น” ของเยอรมนีไปโดยปริยาย และเมื่อกองทัพพันธมิตรยกพลขึ้นบกในวันดี-เดย์ (D-Day)* ณ ชายส่งนอร์มังดี (Normandy) ในวันที่ ๖ เดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๔ รัฐบาลวิชีก็ได้รับคำสั่งจากฮิตเลอร์ห้ามให้ความช่วยเหลือกองทัพพันธมิตรในการปลดแอกประเทศฝรั่งเศส ต่อมาในวันที่ ๗ กันยายน ค.ศ. ๑๙๔๔ เปแตงและคณะรัฐมนตรีก็ถูกบังคับให้เดินทางไปอยู่ที่เมืองซิกมาริงเงิน (Sigmaringen) ในเยอรมนีหลังจากนั้นไม่นาน เปแตงก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ประมุขของประเทศ จึงนับเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลวิชี

 ในฤดูใบใม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๔๕ เมื่อฝ่ายพันธมิตรใกล้จะได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด ผู้นำทางทหารของฝรั่งเศสได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้นที่กรุงปารีสโดยมีนายพลเดอ โกลซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลัดถิ่นฝรั่งเศสเป็นนายกรัฐมนตรี เปแตงในฐานะอดีตประมุขของรัฐและผู้นำรัฐบาลวิชีถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการวางแผนเป็นปฏิปักษ์ต่อความมั่นคงภายในรัฐ และให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับศัตรู จึงถือเป็นการทรยศต่อประเทศชาติและประชาชนฝรั่งเศส ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ เปแตงจึงขอเดินทางกลับประเทศเพื่อขึ้นศาลและป้องเกียรติยศของตนเอง การพิจารณาคดีของเขาใช้เวลาไม่มากแต่ก็ก่อให้เกิดอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในหมู่ ผู้คนที่นิยมและต่อต้านเปแตง ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ศาลได้พิพากษาประหารชีวีตเปแตงฐานมีความผิดกระทำการอันเป็นการทรยศต่อชาติและทำให้ชาติเสื่อมเสียศักดิ์ศรี แต่เนื่องจากเขาอายุใกล้ ๙๐ ปีและเคยทำคุณงามความดีให้กับประเทศโดยเฉพาะระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ นายกรัฐมนตรีเดอ โกล จึงขอให้ศาลพิจารณาลดโทษ ซึ่งศาลก็เปลี่ยนคำพิพากษาเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่ก็ยังให้ถอดยศของเขา และเรียกคืนเหรียญตราที่ได้รับจากรัฐบาลฝรั่งเศสทั้งหมดรวมทั้งให้ยึดทรัพย์สินเป็นของรัฐ

 เปแตงถูกจำคุกที่อีลดีเยอ (Île d’Yeu) ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ นอกชายฝั่้งบริตตานี (Brittany) เขามีความสะดวกสบายพอควรทั้งยังได้รับอนุญาตให้นีนีภรรยาไปเยี่ยมและอยู่เป็นเพื่อนเขาได้ทุกวัน วันละ ๑-๒ ชั่วโมง เนื่องจากสุขภาพที่เปราะบางและชราภาพมากของเขา และบางครั้ง เขาก็แทบช่วยตัวเองไม่ได้ เปแตงเสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๕๑ รวมอายุได้ ๙๕ ปี การเสียชีวิตของเขายังคงได้รับความสนใจจากประชาชนพอควรโดยเฉพาะทหารผ่านศึกที่เคยร่วมรบกับเขา ซึ่งแสดงความประสงค์จะขอเข้าร่วมพิธีศพด้วย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงจัดพิธีศพให้เขาที่โบสถ์ประจำท้องถิ่นอย่างเรียบง่ายโดยมีประชาชนและทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมขบวนแห่ศพของเขา ที่แต่งเครื่องแบบทหารซึ่งปราศจากเครื่องยศแต่คลุมด้วยธงชาติฝรั่งเศส เมื่อเสร็จพิธีในโบสถ์ ร่างของเขาก็ถูกนำไปฝังเหมือนชาวบ้านคนหนึ่ง ณ สุสานของโบสถ์แห่งนั้น.



คำตั้ง
Pétain, Henri-Philippe
คำเทียบ
จอมพล อองรี-ฟิลิป เปแตง
คำสำคัญ
- โกล, ชาร์ล เดอ
- ขบวนการฝรั่งเศสเสรี
- คอมมูนแห่งปารีส
- ชุทซ์ชตัฟเฟิล
- บอลเชวิค
- เปแตง, อองรี-ฟิลิป เบอโนนี โอแมร์ โชแซฟ
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- มหาอำนาจอักษะ
- ยุทธการที่ฝรั่งเศส
- ยุทธการที่แม่นํ้ามาร์นครั้งที่ ๑
- ยุทธการที่แวร์เดิง
- รัฐบาลวิชี
- เรโน, ปอล
- ลัทธิบอลเชวิค
- ลีโอเต, จอมพล อูแบร์
- เลอเบริง, อัลแบร์
- วันดี-เดย์
- วิกฤตการณ์แคว้นรูร์
- เวกอง, มักซีม
- สงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สัญญาสงบศึก
- อาร์ดง, เออชีนี
- เอสเอ
- เอสเอส
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1856-1951
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๓๙๙-๒๔๙๔
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สุจิตรา วุฒิเสถียร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-